สถานการณ์โควิด-19 มกราคม 2564

ในเดือนธันวาคม 2564 คนไทยวิตกกังวลกับการระบาดของโควิดระลอกใหม่ ซึ่งมาจากการข้ามพรมแดนจากประเทศเมียนมาร์ ตั้งแต่ 28พฤศจิกายน 2563 และเบาบางลงใน 6 ธันวาคม 2563 จนมาถึงการระบาดที่รุนแรงกว่า 500 คนที่ตลาดค้ากุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานจากต่างชาติ ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2563 และเริ่มรุนแรงขึ้นในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 จากเหตุการณ์นี้ได้มีการแพร่กระจายออกมาสู่หลายจังหวัด จนกลายมาเป็นเรื่องการระบาดของคนไทยที่มาจากการมั่วสุมในบ่อนการพนันทางจังหวัดตะวันออก เริ่มจากระยอง เมื่อวันที่ 26ธันวาคม 2563 จันทบุรี และชลบุรี ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมาก กระจายไปทั่วประเทศกว่า 50 จังหวัด

นอกจากเรื่องการระบาดในประเทศแล้วนั้น ยังมีเรื่องของการกลายพันธุ์ของเชื้อ โดยเฉพาะในสหราชอาณาจักรที่มีการแพร่กระจายรวดเร็วกว่าเดิม 70 % ทำให้มีการยกเลิกการบินไปสหราชอาณาจักร และไม่ยอมรับผู้ที่เดินทางมาจากสหราชอาณาจักรในหลายประเทศในยุโรป แต่กลุ่มนี้ยังไม่น่ากังวลมากนัก เพราะไม่มีรายงานการดื้อยา แต่มีการกลายพันธุ์จากอีกที่หนึ่ง คือแอฟริกาใต้ ซึ่งเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 นี้ Scott Gottlieab อดีตผู้อำนวยการสำนักอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา รายงานการทดสอบเบื้องต้นในห้องปฏิบัติการ Bloom Lab พบว่าสายพันธุ์นี้มีศักยภาพในการยับยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะส่งผลต่อการรักษาที่เคยใช้มาจะไม่ได้ผล และมีแนวโน้มที่จะทำให้วัคซีนที่ใช้ป้องกันไม่ได้ผล และยังพบอีกว่าแพร่ได้ง่ายและเร็วกว่าสายพันธุ์ย่อยของอังกฤษ

สายพันธุ์ 501.V2 ที่พบในแอฟริกาใต้ และบราซิลเป็นพื้นที่ระบาดหนักเพียง 2 แห่งของโลกที่อยู่ในฤดูร้อน โดยตุ่มโปรตีนบริเวณเปลือกของไวรัส ซึ่งเป็นส่วนที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของมนุษย์จะเข้าไปเกาะจับเพื่อทำลายเซลล์ไวรัส การเปลี่ยนแปลงที่ตุ่มโปรตีนนี้ ทำให้เชื้อสามารถหลบหลีกระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเราได้ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดการติดเชื้อใหม่นี้ได้อีก

หนทางเดียวที่จะป้องกันไม่ให้เชื้อนี้แพร่เข้ามาในประเทศ คือการหยุดการเดินทางของคนในประเทศนั้น ๆ และการตรวจอย่างละเอียดของคนที่เข้ามาในประเทศ รวมถึงคนในประเทศที่จะต้องป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากป้องกัน รักษาระยะห่าง การรักษาความสะอาดด้วยการล้างมือบ่อย ๆ และการฉีดวัคซีนป้องกัน

การวิตกกังวลเกี่ยวกับวัคซีน มีทั้งการที่จะได้รับเมื่อไร และการจะใช้ดีหรือไม่ โดยประเทศในโลกมุสลิมเริ่มมีความกังวลในการใช้ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมฮาลาล โดยเฉพาะเจลลาติน เพื่อรักษาสภาพส่วนประกอบทั้งหมดให้คงตัว โดยทำหน้าที่ให้น้ำ และไขมันรวมตัวกันอยู่ได้ ช่วยรักษาประสิทธิภาพ และความปลอดภัยในระหว่างการเก็บ และการขนย้าย ซึ่งเจลาตินสกัดได้จากคอลลาเจนที่อยู่ในกระดูก หนัง และเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของสัตว์ ซึ่งมาจากหมู วัว โดยมากทำมาจากหมู

บริษัทหลายบริษัทใช้เวลาหลายปีในการพัฒนาวัคซีนที่ปลอดจากส่วนผสมของหมู และห่วงโซ่การผลิตส่วนใหญ่มีแต่เจลาตินจากหมู ทำให้การจัดซื้อเจลาตินจากสัตว์อื่นมีราคาแพงมากขึ้น นอกจากนี้วัคซีนยังมีปัญหาอายุการใช้งานสั้น เสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว บริษัท Pfizer, Moderna และ Astrazeneca ยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ของตนเองนั้นไม่มีส่วนผสมของเจลาตินหมู ในประเทศมาเลเซียเคยมีประเด็นที่บรรดาพ่อแม่ไม่ยอมให้ลูกฉีดวัคซีนจนต้องออกกฎหมายกักขังพ่อแม่ที่ปฏิเสธที่จะให้ลูกฉีดวัคซีนโรคหัด และหัดเยอรมัน

ข่าวการเสียชีวิตของพยาบาลโปรตุเกส Sonia Acevedo ซึ่งอายุ 41 ปี เสียชีวิตกะทันหันที่บ้านพักของเธอ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 หลังรับวัคซีนแล้ว 2 วัน ซึ่งเป็นวัคซีนของ Pfizer เธอไม่มีโรคประจำตัว และไม่มีผลข้างเคียงใด เธอทำงานที่แผนกกุมารเวชศาสตร์ของสถาบันมะเร็งวิทยา โปรตุเกส ทั้งที่เธอดูปกติดีหลังจากรับวัคซีน มีเพียงอาการเจ็บที่บริเวณฉีดวัคซีนเท่านั้น การตรวจหาสาเหตุการเสียชีวิต และความปลอดภัยของวัคซีน จึงเป็นเรื่องที่กลับมาสู่การให้ความสนใจ และทำให้ความวิตกกังวลเกี่ยวกับวัคซีนนี้กลับมามากขึ้น

การพูดถึง Disease-X ซึ่งเป็นชื่อที่องค์การอนามัยโลกตั้งขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2018 เป็นตัวแทนขององค์ความรู้ที่คาดหมายเอาไว้ว่าอาจเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ได้ในอนาคต และจำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนาที่รวดเร็ว เพื่อเตรียมรับมือ ยังเป็นเพียงข่าวลือว่าจะมีเชื้อไวรัสตัวใหม่ที่จะมาระบาดขึ้นต่อจาก COVID-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ จากแหล่งข่าวของ BBC ซึ่งทั้งหมดยังเป็นเพียงสมมุติฐาน และการคาดคะเนเท่านั้น แนวคดินี้มาจาก Prof.Mark Woolhouse จาก Edinburgh พบว่าการกำเนิดใหม่ของไวรัสชนิดใหม่ ส่วนใหญ่มาจากการทำลายระบบนิเวศ และกลุ่มคนค้าสัตว์ป่า เมื่อระบบนิเวศถูกทำลายสัตว์ขนาดใหญ่หายไป รวมถึงแหล่งอาศัยของสัตว์เล็ก ๆ เช่น หนู ค้างคาว แมลง ทำให้พวกมันจำเป็นต้องมาอาศัยรวมกับมนุษย์จนเกิดเป็นพาหะนาโรค ซึ่งเราสามารถนำไปเชื่อมโยงกับโรค Ebola ที่เคยระบาดหนัก จากการทำลายป่าเป็นเหตุให้สัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคเข้าไปแฝงตัวกับมนุษย์ และป่าเขตร้อนชื้น ทำให้ไวรัสเติบโตได้ดี และแพร่กระจายได้รวดเร็ว

ข้อมูลจาก : นพ.ธิติวัฒน์ ประชาธำรงพิวัฒน์

(https://minsenconcept.com/covid-19-มกราคม-2564/)

Cover designed by Freepik