ภูมิคุ้มกันสังคมจากโควิด-19

ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตการณ์หนัก ๆ ไม่ว่าจะในระดับโลก หรือระดับประเทศ จะเกิดระเบียบใหม่ในสังคมขึ้นเสมอ เช่น ในปี 1989 การสิ้นสุดของสงครามเย็นก็ทำให้เกิดโลกาภิวัตน์ (Globalization) ซึ่งเป็นการที่ทุกคนสามารถเชื่อมต่อกับโลก ได้ทั้งเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ ข่าวสาร ฯลฯ เช่นเดียวกัน วิกฤติ911ในสหรัฐอเมริกาก็ทำให้เกิดการรวมศูนย์อำนาจของโลกมาอยู่ที่สหรัฐอเมริกาอย่างสมบูรณ์

การเกิด COVID-19 เป็นการเร่งการเปลี่ยนแปลงท่าจะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้าให้เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น เรื่องออนไลน์ ที่คิดว่าต้องมาก็มาทันทีไม่ว่าจะเป็น การซื้อขายสินค้า การเรียน การเล่นเกมส์ การดูรายการ แม้แต่การเทศน์ทางศาสนา และการทำงานที่บ้าน ฯลฯ ซึ่งมีการประมาณว่าคนจะตกงานไม่น้อยกว่า 7 ล้านคนจากทุกภาคธุรกิจ และหากสถานการณ์ยังยาวนานเกิน 3 เดือนอาจจะถึง 10 ล้านคน

ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมที่เป็นปัญหามานานก็ถูกเร่งขึ้น ด้วยการที่คนทำงานทั่วไปในไทยมีเงินสำรองที่จะใช้ ประมาณ 1-3 เดือนเป็นส่วนใหญ่ การเกิดเคอร์ฟิวและปิดร้านค้าส่งผลให้หลายครอบครัวไม่มีรายได้ การกลัวติดเชื้อก็ ส่วนหนึ่ง แต่การกลัวอดตายก็จะตามมาในไม่ช้า การหวังพึ่งพาภาครัฐในช่วงวิกฤติในหลายประเทศก็ประสบปัญหาในการหวังพึ่งพา แต่ด้วยกลไกภาครัฐที่ทำงานค่อนข้างเชื่องช้า ทำให้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างทันท่วงที

รูปแบบใหม่ของการดูแลสุขภาพที่มากขึ้น ความสนใจในด้านสุขอนามัย การสวมหน้ากาก การล้างมือ การมีระยะห่าง และรูปแบบการสัมผัสเพื่อทักทายจะมีการเปลี่ยนแปลง

การเข้าถึงข้อมูล การเปิดเผยข้อมูล และการเชื่อมต่อข้อมูล ทั้งส่วนของปัจเจกบุคคล และการจัดการของรัฐ คนจะยอม เปิดเผยข้อมูลส่วนตนเพื่อแลกกับประโยชน์ด้านสุขภาพไหม และรัฐจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่แปลงเป็นอำนาจในการติดตามคนในสังคมจริงหรือไม่

โจทย์ใหญ่หลังวิกฤติ คือ วิสัยทัศน์และความสามารถในการฟื้นฟูประเทศและประชาชน ซึ่งเป็นการวัดความสามารถของผู้นำ โดยในประเทศไทยก็มีปัญหาหลายด้าน ทั้งด้านการเมืองการปกครองภายใน เศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ (ทั้งฝุ่นละออง  และไฟป่า กับสุขภาวะอื่น ๆ) รวมถึงความแห้งแล้ง และน้ำท่วมซ้ำซ้อนในชนบทไทย

สิ่งที่พอจะช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกันสังคมในเบื้องต้น คือ

1) การเตรียมพร้อมกับเทคโนโลยี ด้วยการหาความรู้ในระหว่างที่ต้องเก็บตัวอยู่ในบ้าน หาคนมาสอนและเรียนรู้ผ่านโทรศัพท์ โทรทัศน์ ฯลฯ รวมถึงการหาทักษะใหม่เพิ่มเติมในการอยู่รอดในสังคม

2) การช่วยเหลือกันของสังคม การให้ข้าวสารอาหารแห้ง การทำศูนย์อาหารเพื่อแจกจ่าย คล้ายกับกรณีน้ำท่วม เพื่อช่วยประทังความหิวของคนที่ลำบาก

3) การดูแลสุขภาพที่สำคัญ คือ สุขภาพจิต นอกจากล้างมือ ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงเลือกเสพข่าวอย่างมีสติ

ข้อมูลจาก : นพ.ธิติวัฒน์ ประชาธำรงพิวัฒน์

(https://minsenconcept.com/social-vaccine-ภูมิคุ้มกันสังคมจาก-covid/)

 

Cover designed by Freepik

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *