ตามทันโควิด-19 พฤศจิกายน 2563

ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีรายงานการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยในซีกโลกทางด้านเหนือ โดยในวันที่ 17 พฤศจิกายน สหรัฐฯ มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 162,149 คน อินเดียที่มีอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้น 28,555 คน อิตาลีมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นใหม่ 27,354 คน รัสเซียมีการติดเชื้อใหม่ 22,778 คน สหราชอาณาจักรมีการติดเชื้อเพิ่ม 21,363 คน บราซิลมีการติดเชื้อใหม่ 13,647 คน โดยมียอดการติดเชื้อสะสมทั่วโลกแล้วกว่า 55 ล้านคน รักษาหายแล้ว 38 ล้านคน และมียอดผู้เสียชีวิตกว่า 1.33 ล้านคน โดยมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 2.4%

หลังจากที่ “ไฟเซอร์” ออกมาประกาศเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไม่นาน วันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 บริษัท โมเดิร์นนา ก็ได้ออกมารายงานผลการทดลองวัคซีน ว่าสามารถป้องกันโควิด-19 ได้ถึง 94.5% ซึ่งมากกว่าของไฟเซอร์ ที่ได้ผลเพียง 90% ซึ่งต้องเก็บไว้ในที่มีอุณหภูมิที่เย็นเป็นพิเศษ -70 องศาเซลเซียส และเก็บได้เพียง 5 วัน แต่วัคซีนใหม่นี้สามารถนำมาใช้งานแบบฉุกเฉินได้ในช่วงเดือนธันวาคมนี้ประมาณ 60 ล้านโดส โดยที่สามารถเก็บได้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิประมาณ 2-8 องศาเซลเซียสได้เป็นเวลา 30 วัน และเก็บได้นานถึง 2 เดือนในอุณหภูมิ -2 องศาเซลเซียส ที่สำคัญคือในปี 2564 ทั้งสองบริษัทคาดว่าจะผลิตวัคซีนได้ถึง 1,000 ล้านโดส แต่วัคซีนนี้จะต้องฉีด 2 เข็มห่างกันประมาณ 40 วัน เป็นการใช้เทคนิคที่เรียกว่า เมสเซนเจอร์ อาร์ เอ็น เอ (mRNA) สิ่งที่น่าสนใจ คือ ผู้บริหารสูงสุดของไฟเซอร์ขายหุ้นของตนเองออก หลังจากประกาศข่าวการพบวัคซีน

วันที่ 18 พฤศจิกายน ทางบริษัท ไฟเซอร์ ได้ออกประกาศถึงประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ของวัคซีนได้ถึง 95% ซึ่งสูงกว่าของโมเดิร์นนา และกำลังดำเนินการขอใช้วัคซีน และคาดว่าจะได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา และสามารถให้บริการกับสาธารณชนได้ภายในสิ้นปีนี้ วัคซีนที่อยู่ในรอบสุดท้ายที่เตรียมรายงานผลตามมา ได้แก่ของออกฟอร์ดร่วมกับแอสตราเซนิกา และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ซึ่งน่าจะเห็นผลกันสิ้นปีนี้ ทั้งสองวัคซีนเป็น Adenoviral Vector โดยต่างมีข้อดีต่างกันคือสำหรับออกฟอร์ดได้มีข้อตกลงกับ สยาม ไบโอไซน์ จำกัด ซึ่งอาจจะมีโอกาสให้ประเทศไทยได้ใช้วัคซีนที่ผลิตในประเทศ ส่วนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันจะเป็นวัคซีนที่ฉีดเพียงเข็มเดียว

วัคซีนโนวาแวก เป็นวัคซีนตัวแรกที่ใช้ Spike Protein ของเชื้อมาทำวัคซีน ซึ่งทำให้วัคซีนนี้น่าจะจัดเก็บง่าย และมีผลข้างเคียงน้อยกว่าวัคซีนตัวอื่นมาก แต่วัคซีนตัวนี้มีการเริ่มทดลองขั้นตอนที่สามช้ากว่าวัคซีนอื่น เลยอาจจะต้องรอผลสักต้นปีหน้า และยังมีวัคซีน ของเมดิคาโก และ แกลกโซ สมิท ไคลน์ สนับสนุนโดยบริษัท ฟิลิปส์ มอริส ผู้ผลิตบุหรี่รายใหญ่ ซึ่งใช้เทคนิคการผลิตจากโปรตีนไวรัสจากใบยาสูบ คล้ายทีมอาจารย์จุฬาแต่เทคนิคของเขาจะกระตุ้นภูมิได้ดีมาก และเริ่มเข้าขั้นที่สามแล้วเช่นกัน ซึ่งคงจะได้เห็นผลในปีหน้า และยังมีวัคซีนของจีนอีกไม่น้อยกว่า 4 ชนิด ทั้งซิโนแวค (ซึ่งมีปัญหาในบราซิล) ซิโนฟารม์ ซึ่งมี 2 วัคซีน และแคนซิโน และยังมีวัคซีนของรัสเซียที่ทดลองร่วมกับฟิลิปปินส์ แต่ยังไม่เห็นรายงานชัดเจนในขั้นที่สาม

ในปีหน้าจากการเร่งพัฒนาและทำการทดลองทางคลินิกจะกลายเป็นการเร่งผลิตและขาย และการเร่งอัตราการผลิตให้ได้ระดับที่ครอบคลุมทั้งโลกคงจะต้องไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 ล้านโดส ซึ่งคาดการณ์ว่าสถานการณ์ของโลกน่าจะดีขึ้นในช่วงประมาณไตรมาสที่ 3 ของปี หลังจากมีการติดเชื้อไปมากร่วมกับวัคซีนที่ได้รับ แต่การพบวัคซีน ไม่ได้เป็นตัวแปรสำคัญเพียงอย่างเดียวเท่านั้นในการดูแลโลก เพราะแค่เพียงการใส่หน้ากากอนามัยยังมีความไม่พร้อมในหลายแห่ง จึงไม่อาจคาดได้ว่าจะมีความพร้อมในการฉีดวัคซีนหรือไม่ โดยเฉพาะมีปัจจัยทาด้านต้นทุนการขนส่ง การผลิต ฯลฯ

สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมรายงานงานวิจัยเกี่ยวกับสถานการณ์โควิค-19 ว่าจากวิกฤตโควิด-19 ในครั้งจะส่งผลให้คนไทยมีความเสี่ยงที่จะยากจนเพิ่มขึ้น 1.1 ล้านครัวเรือนจากความเปราะบางที่รายจ่ายเพิ่มขึ้น และรายได้ที่ลดลง แม้ว่ารัฐบาลจะมีแนวทางเยียวยาในเบื้องต้น แต่ต้องมีมาตรการอื่นเพิ่มเติมระยะยาวเพื่อช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้

ข้อมูลจาก : นพ.ธิติวัฒน์ ประชาธำรงพิวัฒน์

(https://minsenconcept.com/ตามทัน-covid-พฤศจิกายน-2563/)

Cover designed by Freepik