ตามทันโควิด-19 กันยายน 2563

จากการที่มีการระบาดรอบสอง รวมถึงการติดเชื้ออย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา บราซิล อินเดีย ซึ่งมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มเข้าถึง 33 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 1 ล้านคน โดยมีผู้ที่หายแล้วประมาณ 25 ล้านคน จึงขอนำข้อมูลที่ติดตามจากหลายส่วนมานำเสนอโดยรวม ทั้งสถานการณ์ปัจจุบันมีอะไรที่น่าเป็นห่วง การค้นหาวัคซีน การตรวจสอบหาเชื้อ

จากสถานการณ์ปัจจุบันพบว่าอัตราการติดเชื้อในหลายประเทศน่าจะสูงมากแล้ว โดยคาดว่าในอินเดียจะมีคนติดเชื้อมากกว่า 60 ล้านคน ทั้งนี้เพราะว่าการตรวจหา Antibody ในคนทั่วไปพบถึง 1 ใน 15 คน ทั้งที่รายงานการติดเชื้อเพียง 6 ล้านคน ประมาณการณ์ว่าเพิ่มจากที่รายงาน 10 เท่าตัว เพราะคนเหล่านี้มีการติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ หรืออาการไม่รุนแรง ซึ่งตัวเลขนี้น่าจะพอเทียบเคียงกับบราซิล โดยอาจรวมกับประเทศสหรัฐอเมริกาได้ ซึ่งทำให้มีโอกาสเข้าใกล้ถึงภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ที่โอกาสติดเชื้อของคนทั่วไปจะต่ำลง เพราะคนจำนวนมากมีการติดเชื้อแล้ว รายงานเมืองแรกที่น่าจะเข้าถึง Herd Immunity คือ เมืองมาเนาส์ (Manaus) รัฐอะมาโซนาส ประเทศบราซิล จากการที่ยอดเสียชีวิตลดลงอย่างมากเมื่อกลางเดือนกันยายน ที่เสียชีวิตเพียง 45 คนต่อวัน เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมที่เสียชีวิตถึง 277 คนต่อวัน และเมืองนี้ไม่เคยใช้มาตรการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ มีเพียงการปิดธุรกิจบางประเภท แต่ประชาชนก็ยังไม่สนใจการดูแลตนเอง ทั้งการสวมหน้ากาก และการเว้นระยะห่าง โดยคาดว่าชาวเมืองนี้ติดเชื้อแล้วประมาณ 44-66 %

สำหรับประเทศไทย ต้องพิจารณาการเปิดเมืองเพื่อให้เศรษฐกิจอยู่รอด แต่ต้องระวังการระบาดในรอบที่สอง รวมถึงหากเราป้องกันตนเองมากเกินไปจะทำให้เราขาดโอกาสในการจะพัฒนาให้เกิดภูมิคุ้มกันกลุ่มหรือไม่ แต่บางรายงานเชื่อว่าการใช้หน้ากากอนามัยอาจจะเป็นการช่วยให้เกิดภูมิคุ้มกันได้ เพราะเชื้อที่มีอยู่ในร่างกายเท่านั้นที่จะกระตุ้น โดยไม่ไปรับเชื้อใหม่เพิ่มเติม และมาตรการที่นำเข้าคนป่วย รวมถึงการที่มีคนหายหลายพันคนแล้ว คนเหล่านี้อาจจะช่วยให้เกิดภูมิคุ้มกันได้บ้าง

การตรวจหา COVID ในประชาชนนั้นมีการตรวจได้อย่างรวดเร็วภายใน 10 วินาที โดยดำเนินการแล้วที่สนามบินเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เป็นรายงานใน TheGuardian เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา และคาดว่าจะนำมาใช้ในโรงพยาบาล สถานพักฟื้น และตามงานที่จัดแข่งขันกีฬาหรือการแสดงวัฒนธรรม โดยคนที่จะรับการตรวจจะถูกขอให้เช็ดผิวหนังบริเวณคอแล้วนำใส่ถ้วย จากนั้นให้สุนัขดมกลิ่น สุนัขได้กลิ่นไวรัสจะเห่าหรือนอนราบ เพื่อให้ผู้ถูกสงสัยนั้นไปใช้ชุด PCR ตรวจอีกครั้งหนึ่งเพื่อยืนยันผล การใช้สุนัขตรวจนี้ได้ผลค่อนข้างแม่นยำเกือบ 100 % แม้ผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการ นอกจากนี้ยังเคยมีการใช้สุนัขดมกลิ่นมะเร็ง และเบาหวานมาแล้ว โดยแนวความคิดนี้มาจากการศึกษาของฝรั่งเศสในเดือนมิถุนายน ที่พบว่ากลิ่นเหงื่อของคนที่ติดเชื้อ COVID มีความแตกต่างจากคนที่ไม่ติดเชื้อ ซึ่งสุนัขสามารถแยกความแตกต่างได้

แต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เคยมีรายงานว่าสุนัขสามารถติดเชื้อ COVID จากคนได้ แต่ไม่แสดงอาการป่วย และยังไม่มีหลักฐานว่าสามารถแพร่เชื้อต่อไปยังมนุษย์และสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ  โดยสุนัขตัวแรกนั้นเป็นพันธุ์ปอมเมอเรเนียนที่เจ้าของเป็นผู้ติดเชื้อจากฮ่องกง

การพัฒนาวัคซีนมีการทดลองใช้ในคนแล้วในหลายประเทศ The New York Times เผยว่าข้อมูลจากการพัฒนาวัคซีน COVID มีมากกว่า 140 ตัว จากทีมนักวิจัยทั่วโลก และคาดว่าจะใช้ได้ในปี 2564 เช่น Moderna ของสหรัฐ BioNTech ของเยอรมนี และวิธีที่ได้รับการยอมรับและคาดว่าน่าจะมีความสำเร็จมากที่สุดคือ Viral Vector Vaccines เป็นการพัฒนาจากไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนแอลงมาตัดต่อสารพันธุกรรมของไวรัส เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน และมีการทดลองในระยะที่สามแล้วในหลายประเทศ คือ เม็กซิโก มีการดำเนินการแล้ว โดยวัคซีนของรัสเซีย (Sputnik V) รวมทั้งของ Astra Zeneca จากประเทศอังกฤษ และJohnson & Johnson ของสหรัฐอเมริกา

ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ใช้วัคซีน China National Pharmaceutical Group (Sinopharm) ที่มีการทดสอบ ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก และคาดว่าจะสามารถผลิตได้มากกว่า 200 ล้านโดสต่อปี ราคาประมาณ 1,000 หยวน โดยต้องฉีด 2 เข็ม

สำหรับประเทศไทย มีการพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID จากใบยาสบู N. Benthamiana ผลงานของบริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด โดยพัฒนาวัคซีนต้นแบบทั้งสิ้น 6 ชนิด และนำไปฉีดในสัตว์ทดลอง ทั้งหนูขาว ลิง ได้ผลในระดับที่น่าพอใจ จากการที่สัตว์มีการสร้างภูมิคุ้มกันในสัตว์ทั้งสองชนิด ในปริมาณสูงจากการฉีดวัคซีนเพียง 2 ครั้ง

ข้อมูลจาก : นพ.ธิติวัฒน์ ประชาธำรงพิวัฒน์

(https://minsenconcept.com/ตามทัน-covid-กันยายน-2563/)

Cover designed from https://covid19.who.int 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *